วันศุกร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2560

มารยาททางสังคมในการร่วมรับประทานอาหาร กับผู้อื่น



มารยาททางสังคมในการ
ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น



มารยาทในการรับประทานอาหารร่วมกันผู้อื่นอย่างเป็นทางการนั้น เป็นสิ่งที่ผู้ที่คนโรงแรมทั้งหลายควรที่จะเรียนรู้เพื่อนำไปใช้ในการเข้าสังคมร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่น และใช้ในการให้บริการลูกค้าที่มาใช้บริหารห้องอาหารโรงแรมของตนเองได้อย่างถูกต้อง ถูกกาละเทศะ ไม่ขายหน้าใคร และไม่ทำให้ใครต้องขายหน้าในการรับประทานอาหารร่วมกัน
การรับประทานอาหารอย่างเป็นทางการ (formal dining) เป็นมารยาททางสังคม มีแบบแผนการปฏิบัติ ทุกท่านควรที่จะศึกษาไว้และนำไปใช้ได้อย่างถูกต้องให้เหมาะสมกับกาละเทศะ ทั้งในแวดวงสังคมและในธุรกิจที่ต้องร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่นอย่างเป็นทางการ
ถ้าท่านได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นทางการ ท่านควรที่จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. การแต่งกาย (Dress Code) : แต่งกายให้ตรงตามที่เจ้าภาพระบุหรือแนะนำไว้ในบัตรเชิญ หรือแต่งกายสุภาพ เหมาะสม
2. การมาถึง (Arrival) : ควรมาถึงก่อนเวลาที่ระบุไว้ในบัตรเชิญ ประมาณ 10 นาที  อย่าไปสาย การไปถึงเร็วเกินไปก็ไม่ใช่เรื่องดีนัก เพราะทางเจ้าภาพอาจจะยังไม่พร้อมที่จะรับรองแขก
3. ของขวัญสำหรับเจ้าภาพ (Hostess Gift) : ท่านควรที่จะมีของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ติดไม้ติดมือไปฝากเจ้าภาพ ซึ่งควรเป็นสิ่งของที่เจ้าภาพไม่จำเป็นต้องนำออกมาใช้ในงานเลี้ยง ของขวัญประเภทดอกไม้ ขนม ไวน์ ของหวาน ไม่เหมาะที่จะนำมามอบเป็นของขวัญให้แก่เจ้าภาพ เพราะจะทำให้เจ้าภาพต้องมีภาระในการจัดการของขวัญของฝากเหล่านี้อย่างรวดเร็ว และสร้างความฉุกละหุกให้แก่เจ้าภาพ ท่านไม่ควรที่จะคาดหวังว่าของขวัญที่ท่านนำมาฝากเจ้าภาพจะต้องถูกนำออกมาเสิร์ฟในการรับประทานอาหารในครั้งนี้
4. การนั่งโต๊ะอาหาร (Seating) : ที่โต๊ะสำหรับรับประทานอาหาร แขกที่มาร่วมงานควรที่จะรอให้เจ้าภาพนั่งที่โต๊ะให้เรียบร้อยเสียก่อนแล้วจึงจะนั่ง หรือถ้าเจ้าภาพเชิญให้ท่านนั่งลงก่อนก็ไม่ต้องรอเจ้าภาพ สำหรับงานการรับประทานอาหารอย่างเป็นทางการที่มีระเบียบแบบแผนมากๆ นั้น ถ้าไม่มีป้ายชื่อตั้งไว้ที่โต๊ะ แขกที่มาร่วมควรจะต้องรอให้เจ้าภาพบอกก่อนว่าท่านควรจะนั่งตรงไหน การจัดที่นั่งโดยปกติแล้วจะจัดที่นั่งของผู้ชายและผู้หญิงสลับกันไป และจะจัดที่นั่งของผู้หญิงอยู่ด้านขวามือของผู้ชาย
5. การสวดขอพร (Prayer) : บางบ้านจะมีการสวดขอพร หรือให้ศีลให้พรก่อนการรับประทานอาหาร ผู้เข้าร่วมรับประทานอาหารสามารถที่จะร่วมสวดด้วยเพื่อแสดงออกถึงความเคารพ หรืออยู่เฉยอย่างเงียบๆ ระหว่างนั้นก็ได้
6. การดื่มอวยพร (Toast) : ในงานเลี้ยงบางงานจะมีการดื่มอวยพรแทนการสวดขอพร ผู้เข้าร่วมรับประทานอาหารก็ควรร่วมดื่มอวยพรด้วย ถ้าเจ้าภาพลุกขึ้นยืนเพื่อดื่มอวยพร ผู้เข้าร่วมรับประทานอาหารก็ควรที่จะลุกขึ้นยืนดื่มอวยพรด้วย
7. การสิ้นสุดการรับประทานอาหาร (End of Dinner) : การเสิร์ฟชาหรือกาแฟ มีความหมายเป็นนัยว่าการรับประทานอาหารอย่างเป็นทางการนั้นสิ้นสุดลงแล้ว แขกที่มาร่วมงานสามารถขอตัวกลับได้ หรืออาจะอยู่ต่อได้ถ้าทางเจ้าภาพเชิญชวน
8. การส่งข้อความขอบคุณ (Thank You Note) : หลังกลับมาจากการเข้าร่วมรับประทานอาหารอย่างเป็นทางการ ควรส่งข้อความกลับไปขอบคุณเจ้าภาพอย่างเป็นทางการ ถ้าสนิทกับเจ้าภาพก็อาจจะใช้โทรศัพท์โทรไปขอบคุณก็เป็นการสมควร
เมื่อท่านได้เข้าร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่นอย่างเป็นทางการ ท่านควรที่รู้จักแบบแผนและมารยาทในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นดังต่อไปนี้
1. การเสิร์ฟอาหาร (Serving food) :
  • อาหารจะถูกเสิร์ฟจากด้านซ้ายมือไปทางด้านขวามือ
  • กล่าวคำขอบคุณเมื่อมีผู้มาเสิร์ฟอาหารให้ท่าน และถ้าเป็นการรับประทานในภัตตาคารอย่าลืมกล่าวคำขอบคุณเมื่อพนักงานมาเก็บจานและภาชนะที่ใช้แล้วของท่านออกไปจากโต๊ะอาหารด้วย
  • เนย น้ำจิ้ม หรือเครื่องปรุง ที่จะต้องใช้ร่วมกัน ควรที่จะตักจากจานรวม ไปยังจานส่วนตัวของท่านเองก่อนที่จะรับประทาน
2. การส่งอาหารต่อไปยังผู้อื่น (Passing dishes or food) :
  • การส่งอาหารต่อจากที่นั่งของท่านเองไปยังผู้อื่นนั้น ให้ส่งจากผู้นั่งที่อยู่ทางด้านซ้ายไปทางด้านขวา ไม่ส่งอาหารไปยังผู้ที่นั่งอยู่ตรงข้าม หรือส่งอาหารข้ามหน้าแขกคนอื่น รวมถึงไม่เมื้อมมือไปตักอาหารหรือเครื่องปรุงรสต่างๆ ผ่านหน้าผู้อื่น
  • ถ้าผู้ร่วมโต๊ะคนอื่นให้ท่านช่วยส่งกระปุกเกลือหรือพริกไทยแต่เพียงอย่างเดียวไปให้ ท่านควรที่จะส่งไปให้พร้อมกันทั้งคู่ ไม่ส่งไปให้แต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้เพื่อป้องกันความสับสนของผู้อื่นในภายหลัง
  • การการส่งต่อสิ่งของต่างๆ ไปให้ผู้ร่วมโต๊ะคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นกระปุกเกลือและพริกไทย ที่บดพริกไทย ตะกร้าขนมปัง หรือจานเนย ให้ส่งไปวางบนโต๊ะตรงหน้าของผู้นั้น ไม่ส่งใส่มือของผู้อื่น
  • ขณะที่มีผู้หนึ่งกำลังส่งต่ออาหารหรือเครื่องปรุงให้ผู้อื่นบนโต๊ะอาหาร อย่าไปตัดหน้าผู้อื่นโดยการตักอาหาร หรือเครื่องปรุงต่างๆ ไปก่อน
  • ในการตักแบ่งอาหารจากจานใหญ่ ให้ใช้ช้อนกลาง หรือเครื่องมือที่จัดไว้ให้ในจานใหญ่ ไม่ใช้ช้อนหรือซ่อมส่วนตัวของท่านเองในการตักแบ่งอาหาร
3. การกิน (Eating) :
  • ไม่พูดขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก การพูดคุยระหว่างที่อาหารอยู่ในปากถือเป็นเรื่องที่หยาบคาย และไร้มารยาท ไม่น่ามอง ควรที่จะรอจนกระทั่งกลืนอาหารในปากให้หมดเสียก่อนแล้วจึงพูดคุยกับผู้อื่น
  • ควรที่จะชิมอาหารที่นำมาเสิร์ฟก่อนที่จะปรุงเพิ่มเติม โดยปกติแล้วเจ้าภาพจะเสิร์ฟอาหารที่ปรุงมาแล้วเป็นอย่างดีมีความอร่อยเป็นเลิศให้แก่ผู้ที่มาร่วมรับประทานอาหาร การปรุงรสชาดอาหารด้วยเกลือหรือพริกไทยก่อนการชิมถือเป็นเรื่องที่หยาบคาย และไม่ให้เกียรติเจ้าภาพ เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม
  • ไม่ควรใช้ปากเป่าอาหารที่ร้อนๆ ให้เย็นลง ถ้าเป็นอาหารที่ร้อนมากควรเปรยให้ผู้อื่นรู้ว่าร้อน รอให้อาหารเย็นลงแล้วจึงกิน
  • ในการตักอาหารมารับประทานควรใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม ที่เจ้าภาพได้จัดเตรียมไว้ให้ท่าน ไม่หยิบอุปกรณ์ของผู้อื่นมาใช้
  • ตัก/ตัดอาหารแต่ละครั้งตักให้พอดี (การตัก/ตัดอาหารแต่ละครั้งไม่ควรมากกว่าที่จะกินได้ 2 คำ) กินคำเล็กๆ และช้าๆ ถ้าตักมาครั้งแรกแล้วไม่พอสามารถตักเพิ่มใหม่ได้
    ไม่ควรตักอาหารมาใส่จานของตนเองครั้งละมากๆ จนพูนจาน
  • ค่อยๆ กินอาหารในจานของตนเองให้หมด ถ้าท่านรู้สึกว่าไม่ชื่นชอบอาหารที่นำมาเสิร์ฟควรสงบเงียบไว้ ถ้าท่านจะเหลืออาหารในจานของท่านเองบ้างเล็กน้อยเพราะท่านรู้สึกอิ่ม หรือว่าไม่ชอบอาหารนั้นก็เป็นการสมควร ถ้าไม่เหลือไว้จนมากเกินไป อย่าพยายามตักอาหารที่เหลือในจานของท่านเองนั้นให้แก่ผู้อื่น อย่าเอ่ยคำตำหนิ ติเตียนถ้าท่านไม่ชอบอาหารที่ทางเจ้าภาพนำมาเสิร์ฟ โปรดเงียบไว้
  • แม้ว่าท่านจะอยู่ระหว่างการควบคุมน้ำหนัก หรือคุมอาหาร เป็นการไม่เหมาะสมที่ท่านจะถามหาอาหารอื่นๆ นอกเหนือจากอาหารที่ทางเจ้าภาพจัดเตรียมไว้ ถ้าท่านจำเป็นจะต้องควบคุมอาหารอย่างเคร่งครัด ท่านควรแจ้งให้เจ้าภาพได้รับทราบไว้ล่วงหน้า ไม่ใช่มาแจ้งเมื่อมีการเสิร์ฟอาหารแล้ว
  • ไม่ใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารคุ้ยอาหารเล่น ไม่โยกอุปกรณ์ในการกินอาหารไปมา รวมทั้งไม่ใช้อุปกรณ์ในการกินอาหารชี้ไปยังผู้อื่น ไม่ตักอาหารค้างไว้ในช้อนหรือซ่อมระหว่างการพูดคุย
  • พยายามชะลอการกินอาหารของท่านไม่ให้เร็วจนเกินไป ไม่กินอิ่มก่อนผู้อื่นในขณะที่ผู้อื่นส่วนใหญ่กินไปยังไม่ถึงครึ่ง แต่ถ้าท่านเป็นคนกินอาหารช้าให้เร่งกินให้ทันผู้ร่วมโต๊ะส่วนใหญ่ ถ้าส่วนใหญ่กินอิ่มหมดนานแล้ว โดยมารยาทท่านควรที่จะหยุดกินเพื่อไม่ต้องให้ผู้อื่นต้องรอท่านเพื่อรอการเสิร์ฟอาหารอื่นๆ ต่อไป
5. มารยาทบนโต๊ะอาหาร (Table Manners) :
  • คลี่ผ้าเช็ดปากแล้ววางลงบนหน้าตักของท่านภายใน 1 นาทีเมื่อนั่งลงที่โต๊ะรับประทานอาหาร เมื่อรับประทานอาหารเสร็จให้วางผ้าเช็ดปากลงบนโต๊ะด้านหน้าของท่านเอง อย่าวางลงบนจานอาหารหรือวางไว้บนเก้าอี้ที่ท่านนั่ง
  • ไม่วางศอกของท่านบนโต๊ะ วางมือซ้ายไว้บนตักเว้นเสียแต่ว่าท่านใช้มือซ้ายเพื่อการอื่นอยู่
  • ไม่พูดในขณะที่ในปากไม่ว่าง และไม่ผิดปาก
  • แขกที่มาร่วมงานควรที่จะสนทนากับแขกคนอื่นๆ ที่ร่วมโต๊ะเดียวกันอย่างกลมกลืนแบบเบาๆ ไม่พูดส่งเสียงดัง เปิดโอกาสให้ผู้อื่นได้พูดคุยอย่างเท่าเทียม พูดในเรื่องที่สนุกสนาน และเป็นเรื่องที่ดีน่าฟัง
  • ถ้ามีสิ่งใดหกหรือลงบนโต๊ะอาหาร อย่าใช้ผ้าเช็ดปากเช็ด และอย่าสัมผัสกับสิ่งของที่หกหรือตกลงบนพื้น ท่านสามารถใช้ผ้าเช็ดปากป้องกันสี่งที่หกหรือลงบนพื้น และท่านสามารถแจ้งให้บริกรมาเก็บทำความสะอาดสิ่งที่ตกหรือหกลงมา ถ้าผ้าเช็ดปากของท่านเปียก หรืออุปกรณ์ของใช้ในการกินอาหารตกหรือหกลงไปบนพื้น ท่านควรขอผ้าเช็ดปากหรืออุปกรณ์ชุดใหม่มาเปลี่ยนทันที
  • การกินอาหารที่มีเสียงดัง เช่นการขบเคี้ยวอาหาร และการส่งเสียงดังอื่นๆ อันเกิดจากการกินอาหาร และการแสดงอาการมูมมาม เป็นเรื่องที่ไม่สุภาพ และเป็นมารยาทที่พึงรังเกียจเป็นอันดับหนึ่งในการรับประทานอาหาร
  • ถ้าท่านมีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหล ให้ขอตัวไปเข้าห้องน้ำเพื่อล้างจัดการให้สะอาดเรียบร้อยก่อนกลับเข้ามารับประทานอาหารต่อไป ถ้าท่านมีอาการไอจามให้ใช้ผ้าเช็ดปากปิดปากก่อนไอหรือจาม ถ้ามีการไอหรือจามอย่างต่อเนื่องไม่หยุด ท่านควรขอตัวไปเข้าห้องน้ำเพื่อไอ/จาม เรียบร้อยแล้วล้างมือให้สะอาดก่อนกลับเข้ามาที่โต๊ะอาหารอีกครั้งหนึ่ง
  • ระหว่างรับประทานอาหาร ให้ปิดโทรศัพท์มือถือของท่าน หรือปิดเสียง หรือเปิดไว้แต่ระบบสั่นไว้ การรับหรือพูดคุยโทรศัพท์ระหว่างการรับประทานอาหารเป็นเรื่องไม่สุภาพ ถ้ามีเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องใช้โทรศัพท์ระหว่างการรับประทานอาหาร ให้กล่าวขออภัยผู้ร่วมโต๊ะ และเดินออกไปพูดคุยโทรศัพท์ด้านนอก และไม่พูดคุยโทรศัพท์นานจนผู้ร่วมโต๊ะคนอื่นต้องรอท่านเพื่อรับประทานอาหารจานอื่นๆ ต่อไป
  • อย่าใช้ไม้จิ้มฟันแคะฟันระหว่างรับประทานอาหาร ตลอดจนการแต่งหน้าในโต๊ะอาหาร
  • ถ้าท่านต้องจะลุกออกจากโต๊ะเพื่อไปเข้าห้องน้ำ ให้ใช้คำว่า "Excuse me" หรือ "I'll be right back" เมื่อจะลุกออกไปจากโต๊ะ ไม่กล่าวว่าท่านกำลังจะไปเข้าห้องน้ำ
  • เมื่อใดก็ตามที่สุภาพสตรีที่นั่งข้างๆ ลุกออกไปจากโต๊ะ หรือกลับเข้ามานั่งที่โต๊ะ สุภาพบุรุษที่นั่งอยู่ข้างๆ ควรที่จะยืนขึ้น
  • ไม่ผลักจานของท่านออกจากตัวท่าน หรือวางจานชามซ้อนกันไว้เพื่อให้พนักงานมาเก็บออกไปจากโต๊ะเมื่อท่านกินเสร็จ ปล่อยทุกอย่างไว้ตามปกติแล้วพนักงานจะมาเก็บออกไปเอง
  • เมื่อคุณใช้อุปกรณ์บนโต๊ะอาหารในการรับประทานอาหารแล้ว ไม่วางกลับลงไปบนโต๊ะอีก วางอุปกรณ์ที่ใช้แล้วในจานหรือในชามของท่าน ถ้าท่านกินอิ่มหรือเลิกกินอาหารจานนั้นแล้ว ให้วางอุปกรณ์นั้น(ซ่อม/มีด/ช้อน) บนจานที่ท่านกินอยู่ โดยรวบเข้าไว้ด้วยกัน โดยวางปลายอุปกรณ์ไว้ใกล้จุดศูนย์กลางของภาชนะนั้นแล้วหันด้ามของอุปกรณ์หันออกไปทางขอบภาชนะนั้นในตำแหน่ง 4:20 น. (ถ้าเทียบภาชนะนั้นเป็นหน้าปัทม์นาฬิกา)
6. ไวน์ (Wine) :
  • จะต้องไม่คว่ำแก้วไวน์ลงบนโต๊ะ (การคว่ำแก้วไวน์ลงบนโต๊ะหมายความว่าท่านจะไม่ดื่มไวน์) ถ้าท่านไม่ต้องการจะดื่มไวน์ให้ท่านเอามือปิดปากแก้วไวน์ขณะที่มีบริกรมาเสิร์ฟไวน์จะดูสุภาพมากกว่าการคว่ำแก้วไว้ ถ้าท่านต้องการดื่มไวน์ก็วางแก้วไวน์ไว้เฉยๆ บริกรจะเสิร์ฟไวน์ให้แก่ท่าน และมาเติมให้เมื่อไวน์ในแก้วท่านพร่องไปโดยไม่สอบถามท่านอีก
  • เมื่อจับแก้วไวน์ขึ้นมาดื่ม ให้จับที่ก้านแก้วไวน์ ไม่ใช่จับที่ปากแก้ว การยกแก้วขึ้นดื่มให้มีลักษณะการจิบทีละนิด อย่างละเมียดละไม หรือเหมือนกับการชิมไวน์ ไม่ยกขึ้นมาดื่มรวดเดียวครั้งละมากๆ เหมือนการดื่มน้ำหรือ Softdrink อื่นๆ
  • ถ้ามีการเสิร์ฟไวน์มากกว่า 1 ชนิดตามประเภทของอาหารที่รับประทาน ท่านไม่จำเป็นต้องดื่มไวน์แก้วแรกให้หมดก่อนแล้วจึงจะดื่มไวน์แก้วที่ 2 ที่เสิร์ฟพร้อมอาหารจานหลักในภายหลัง

บทสรุป

สำหรับคนในแวดวงโรงแรม มารยาทในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นนั้นถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมา การร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่นอย่างมีมารยาทส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีแก่ตัวบุคคลและของโรงแรม  นอกจากนี้ความรู้ความเข้าใจในมารยาทในการรับประทานอาหารเป็นอย่างดี จะช่วยให้พนักงานห้องอาหารต่างๆ ของโรงแรมสามารถบริการลูกค้าได้อย่างอย่างถูกต้อง
ที่มา:http://www.ihotelguru.com/

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น